Saturday, 2 January 2010

ความรู้เบื้องต้นทางกฏหมายที่คนไทยในอังกฤษควรรู้





ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสมรสในประเทศอังกฤษ

เงื่อนไขการสมรส (Conditions)
ตามกฎหมายอังกฤษ ชายและหญิงจะสมรสกันได้ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. ชายและหญิงต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ชายและหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี
และมีเพศสัมพันธ์กันจะมีความผิดทางอาญา กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้สมรสได้

2. ชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 16 ปี ถึง 18 ปี ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือ
จากผู้ปกครอง

3. ในขณะที่ทำการสมรส ชายและหญิงต้องไม่มีคู่สมรสอยู่แล้ว กล่าวคือ เป็นโสด,
เป็นหม้าย, หย่าร้าง หรือไม่มีคู่สมรสเพศเดียวกัน

4. ชายและหญิงต้องไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตเดียวกัน เช่น ชายไม่สามารถสมรสกับ
แม่ ป้า น้า อา น้องสาว หรือหลานสาวของตนเองได้

การหมั้น (Engagement)

การหมั้น คือ ข้อตกลงว่าจะสมรส การหมั้นเป็นเรื่องของเหตุผลทางวัฒนธรรม การ
หมั้นจึงมีผลทางกฎหมายจำกัด อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายคนเข้าเมืองอังกฤษถือว่าการหมั้น
เป็นหลักฐานที่แสดงว่าชายและหญิงประสงค์จะสมรสกัน
การหมั้นไม่เป็นเหตุให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสได้
เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและขัดต่อเจตนาของคู่สัญญา ถ้ามีการผิดสัญญาหมั้น
เกิดขึ้น กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ฝ่ายหญิงมีสิทธิเก็บแหวนหมั้นไว้ได้ เว้นแต่มีเงื่อนไข
หรือข้อตกลงในเวลาหมั้นให้คืนแหวนหมั้นแก่ฝ่ายชายในเวลาที่มีการผิดสัญญาหมั้น ส่วน
ทรัพย์สินอื่นที่เป็นของคนทั้งคู่ ให้แบ่งในลักษณะเดียวกันกับการแบ่งทรัพย์สินในเวลาหย่า แต่
หากไม่สามารถตกลงแบ่งปันทรัพย์สินกันได้ ต้องฟ้องต่อศาลภายในเวลา 3 ปี นับแต่วันที่การ
หมั้นสิ้นสุดลง

สถานที่ที่ทำการสมรส (Places) คู่สมรสสามารถทำการสมรสได้ ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้
1. สำนักทะเบียนราษฎร์(Register Office)
2. สถานที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (local authority) รับรอง (เฉพาะในประเทศ
อังกฤษและแคว้นเวลส์เท่านั้น)
3. โบสถ์ของนิกาย Church of England,โบสถ์ในแคว้นเวลส์,โบสถ์ในประเทศ
ไอร์แลนด์ โบสถ์ของนิกายโปรแตสแตนต์ (Presbyterian)หรือนิกายโรมันคาธอลิค
(Roman Catholic)ในประเทศไอร์แลนด์เหนือ
4. ศาสนสถาน (Religious Building) ซึ่งผู้ทำพิธีสมรสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนาย
ทะเบียน (เฉพาะในประเทศอังกฤษและแคว้นเวลส์เท่านั้น)

แบบพิธีของการสมรส (Form)
การสมรสตามกฎหมายอังกฤษ มี 2 ลักษณะด้วยกัน

(1) การสมรสตามแบบพิธี
ทางกฎหมาย (civil ceremony) ได้แก่ การจดทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียน
(2)การสมรสตามแบบพิธีทางศาสนา (religious ceremony) ได้แก่ การสมรสตามแบบพิธีของแต่ละ
ศาสนาต่อหน้าบาทหลวงหรือนักบวช (priests) ในศาสนานั้นๆ โดยบาทหลวงหรือนักบวชที่
ประกอบพิธีสมรสต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียน
การสมรสทั้งสองแบบ ต้องประกอบด้วยแบบพิธี ดังนี้ต่อไปนี้
1. ต้องทำต่อหน้านายทะเบียน
2. ต้องจดทะเบียนสมรส (the marriage register) โดยคู่สมรสต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อ
หน้าพยาน 2 คน ซึ่งต้องมีอายุเกินกว่า 16 ปี (นายทะเบียนไม่สามารถเป็นพยาน
ได้)


การสมรสตามแบบพิธีทางกฎหมาย (Civil marriage ceremonies)
        ชายและหญิงที่ประสงค์จะทำการสมรสต้องทำหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนให้ทราบล่วงหน้าว่า พวกเขามีความประสงค์จะทำการสมรสกัน เมื่อนายทะเบียนอนุญาต พวกเขาจึงไปทำการสมรสกัน ณ สำนักทะเบียนราษฎร์หรือสถานที่ที่องค์กรปกครองท้องถิ่นรับรองได้

ชายและหญิงที่ประสงค์จะทำการสมรสทั้งคู่ต้องอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษหรือแคว้นเวลส์เป็นเวลา 7 วัน ก่อนแจ้งความประสงค์จะสมรสให้นายทะเบียนทราบ และในหนังสือแจ้งความประสงค์จะสมรสต้องระบุสถานที่ที่จะทำการสมรสด้วย นอกจากนี้ผู้ประสงค์จะทำการสมรสต้องชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 30 ปอนด์แก่นายทะเบียนด้วย

ชายและหญิงที่ประสงค์จะทำการสมรสสามารถทำการสมรสได้ต่อเมื่อระยะเวลา 15 วันนับแต่วันที่มีการบันทึกการแจ้งความประสงค์จะสมรสในสมุดทะเบียนได้ล่วงพ้นไปแล้ว

ในระหว่างเวลาที่แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงเวลาที่ทำการสมรส บุคคลใดๆ สามารถคัดค้านการสมรสได้  เมื่อได้แจ้งความประสงค์จะสมรสแล้ว ชายและหญิงที่ประสงค์จะทำการสมรสอาจถูก
สอบถามข้อเท็จจริงบางอย่าง เช่น ชื่อ ที่อยู่ สถานภาพการสมรสครั้งก่อน การให้การเท็จเป็น
ความผิดอาญา

เอกสารที่ใช้ในการสมรส

1. หลักฐานที่มีแสดงชื่อและที่อยู่ เช่น หนังสือเดินทาง (passport)
2. สูติบัตร
3. หลักฐานการหย่า เช่น ใบมรณบัตรของคู่สมรสเดิม คำพิพากษาเด็ดขาดให้หย่า
(decree absolute)
4. หลักฐานที่แสดงสัญชาติ
หากนายทะเบียนเห็นว่า การสมรสได้จัดให้มีขึ้นเพื่ออำพรางหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายคนเข้าเมือง นายทะเบียนมีหน้าที่รายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย (The Home Office) และด่านตรวจคนเข้าเมือง (Border and Immigration Agency)

ขอแนะนำให้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนลงนามในทะเบียนสมรส การขอแก้ไขในภายหลังจะยุ่งยาก กล่าวคือ ผู้ขอแก้ไขต้องทำเป็นหนังสืออธิบายสาเหตุที่ข้อมูลในทะเบียนสมรสไม่ถูกต้อง

พร้อมทั้งเสนอหลักฐานประกอบ นอกจากนี้ กระบวนการแก้ไขอาจจะใช้เวลานาน ผลการสมรสในประเทศอื่นๆ   การสมรสที่กระทำโดยชอบในสหราชอาณาจักร ได้รับการยอมรับในต่างประเทศหลายประเทศ ดังนั้น คู่สมรสจึงไม่มีความจำเป็นต้องไปทำการสมรสในประเทศที่คู่สมรสมี สัญชาติหรือมีภูมิลำเนาอีกครั้ง เช่น หญิงไทยสมรสกับชายอังกฤษ เมื่อทำการสมรสตามแบบพิธีใน
ประเทศอังกฤษแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความชัดเจน ควรสอบถามจากสถานทูตของประเทศที่เกี่ยวข้องหรือทนายความอีก
ครั้ง

การสมรสนอกสหราชอาณาจักร
การสมรสที่กระทำนอกสหราชอาณาจักร ต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทำการ
สมรส (Lex loci celebration)
เช่น หากหญิงไทยและชายอังกฤษประสงค์จะสมรสในประเทศไทย การสมรสย่อมเป็นไปตามแบบพิธีตามกฎหมายไทย กล่าวคือ บุคคลทั้งสองต้องไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ ในประเทศไทย
และเมื่อทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายในประเทศไทยแล้ว บุคคลทั้งสองมีสถานะเป็นสามีภริยากัน จึงไม่จำเป็นต้องไปทำการสมรสในประเทศอังกฤษอีกครั้ง



 ..................................................................................................................................................








ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการหย่าในอังกฤษ
ตามกฎหมายอังกฤษ การหย่าต้องทำเป็นคำร้อง (petition) เสนอต่อศาล (divorce county
court) เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้หย่า คู่สมรสจึงไม่สามารถไปจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมได้
ดังเช่นที่กระทำในประเทศไทย
เงื่อนไขของการหย่า
กฎหมายอังกฤษห้ามไม่ให้คู่สมรสหย่า เว้นแต่ว่าบุคคลทั้งสองจะได้สมรสกันมาเกินกว่า 1
ปีแล้ว
เหตุแห่งการหย่า
ผู้ร้องขอต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า การสมรสสิ้นสุดลงในลักษณะที่ไม่อาจกลับมาคืนดีกัน
ได้อีก (irretrievably broken down) เหตุที่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลงมีดังนี้

1.สามีหรือภรรยามีชู้ (adultery) จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้อีกต่อไป

2. สามีหรือภรรยาของคุณมีความประพฤติชั่ว จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้
อีกต่อไป

3. สามีหรือภรรยาทิ้งร้างคุณไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี

4. คุณและสามีหรือภรรยาของคุณได้แยกกันอยู่เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี และเขาตกลง
หย่าขาดจากคุณ

5. คุณและสามีหรือภรรยาของคุณได้แยกกันอยู่เป็นเวลา 5 ปี
การฟ้องคดีต่อศาลอังกฤษ

6.คุณและสามีหรือภรรยาของคุณทั้งคู่ต้องมีภูมิลำเนา (domicile) อยู่ในอังกฤษหรือแคว้น
เวลส์เมื่อได้เริ่มร้องขอทำการหย่า หรือ

7.คุณและสามีหรือภรรยาของคุณทั้งคู่ต้องพำนักอาศัยอยู่ในอังกฤษหรือแคว้นเวลส์เมื่อได้
เริ่มร้องขอทำการหย่า หรือ
คุณและสามีหรือภรรยาของคุณทั้งคู่ต้องมีบ้านอยู่ในอังกฤษหรือแคว้นเวลส์ และคนใดคน
หนึ่งคงยังอาศัยอยู่ในอังกฤษหรือแคว้นเวลส์เมื่อเริ่มร้องขอทำการหย่า หรือ
สามีหรือภรรยาของคุณต้องอาศัยอยู่ในอังกฤษหรือแคว้นเวลส์เมื่อเริ่มร้องขอทำการหย่า
หรือ คุณต้องอาศัยอยู่ในอังกฤษหรือแคว้นเวลส์เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี นับถึงเมื่อวันที่การร้อง
ขอให้หย่าเริ่มต้นขึ้น หรือ

คุณต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในอังกฤษหรือแคว้นเวลส์ และต้องอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษหรือ
แคว้นเวลส์ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป นับรวมถึงวันที่จะร้องขอเริ่มทำการ
หย่า

ทนายความ (Solicitor)

ทนายความอาจไม่จำเป็น แต่คุณควรจะได้รับคำแนะนำทางกฎหมายที่เป็นประโยชน์จาก
ทนายความก่อนที่จะร้องขอหย่าในกรณีต่อไปนี้
1. คุณไม่รู้มีความรู้เกี่ยวกับเหตุหย่า
2. สามีหรือภรรยาของคุณไม่ยินยอมที่จะหย่าด้วย
3. คุณไม่สามารถตกลงกับสามีหรือภรรยาของคุณในเรื่องบุตรว่าจะอยู่กับใคร ค่าอุปการะ
เลี้ยงดูบุตรหรือตัวคุณเอง และทรัพย์สิน

การพิจารณาคดี

ถ้าคุณสามารถตกลงกับสามีหรือภรรยาของคุณได้เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดู ทรัพย์สิน
การเลี้ยงดูบุตร คุณก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปรับฟังการพิจารณาของศาล
แต่คุณอาจจะต้องเข้าร่วมในกระบวนพิจารณาของศาล ถ้าคุณร้องต่อศาลให้พิพากษาใน
เรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือการเลี้ยงดูบุตร ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้

ค่าธรรมเนียมการฟ้องหย่า

คุณอาจจะต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมศาลดังต่อไปนี้
1. เมื่อคุณยื่นคำร้องขอหย่าต่อศาล
2. เมื่อคุณต้องการให้ศาลมีคำพิพากษาเด็ดขาดว่าคุณได้หย่าขาดจากสามีหรือภริยาแล้ว
3. เมื่อคุณร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือการเลี้ยงดูบุตร
คุณอาจจะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ โดยคุณต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของศาล

..............................................................................................................................................



เงินสงเคราะห์บุตรในประเทศอังกฤษ (Child Benefits in United Kingdom)


เมื่อครอบครัวของคนอังกฤษมีบุตร รัฐบาลอังกฤษได้ให้ความช่วยเหลือแก่
ครอบครัวของคนอังกฤษที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในรูปของเงินสงเคราะห์มารดา
(benefits for maternity) เงินสงเคราะห์บิดา (benefits for paternity) และเงิน
สงเคราะห์บุตร (child benefits) แต่บุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์มารดา
(benefits for maternity) และเงินสงเคราะห์บิดา (benefits for paternity) ต้องเป็นผู้
ที่ทำงานและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม (National Insurance) แก่ประเทศอังกฤษ
เงินสงเคราะห์บุตร (child benefits) เป็นเงินที่จ่ายให้แก่บุคคลที่มีบุตร โดยไม่ต้องคำนึงว่าบุคคลนั้นได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม (National Insurance)หรือไม่ หรือมีรายได้มากน้อยเพียงใด

รัฐบาลอังกฤษจะให้เงินสงเคราะห์แก่บุตรคนแรกจำนวน 18.80 ปอนด์ต่อสัปดาห์
บุตรคนต่อๆมาคนละ 12.55 ปอนด์ต่อสัปดาห์(อัตราของปี พ.ศ. 2551)

เงินสงเคราะห์นี้จะมอบให้แก่บุคคลที่ดูแลเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปีบริบูรณ์ หรือ
เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และยังคงศึกษาเต็มเวลาจนถึงระดับ A Level หรือเทียบเท่า
บุคคลที่ร้องขอเงินสงเคราะห์และบุตรต้องอยู่ในสหราชอาณาจักร ถ้าผู้ร้องขอ
และบุตรไม่ได้อยู่ในสหราชอาณาจักร ควรติดต่อ Child Benefit Office ที่หมายเลข
โทรศัพท์ (44) 845 302 1444 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
www.adviceguide.org.uk/index/life/benefits/benefits_for_families_and_ children.html
หญิงไทยที่มีสามีเป็นคนอังกฤษและประสงค์จะขอรับเงินสงเคราะห์บุตร ควรให้
สามีชาวอังกฤษติดต่อกับหน่วยงานดังกล่าว หากหญิงไทยยังไม่ได้ทำการสมรสกับ
ชายชาวอังกฤษ ควรทำการสมรสให้ถูกต้องเสียก่อน

 .........................................................................................................................................





 การแบ่งปันทรัพย์มรดกตามกฎหมายมรดกของอังกฤษ

คนจำนวนมากเข้าใจว่า เมื่อคู่สมรสของตนถึงแก่ความตาย ตนมีสิทธิได้รับมรดกของคู่
สมรสทั้งหมด ความเข้าใจดังกล่าวยังคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะหญิงไทยที่สมรสกับชาย
ชาวอังกฤษสมควรเรียนรู้ไว้ว่า หากสามีถึงแก่กรรมและมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทายาทอื่นของสามีมี
สิทธิรับมรดกของสามีด้วย
ตามกฎหมายมรดกของอังกฤษ เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและมิได้ทำพินัยกรรมไว้
การแบ่งปันทรัพย์มรดกในระหว่างทายาท (rules of intestacy) สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 กรณี
คือ
1.คู่สมรสของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่
2.คู่สมรสของเจ้ามรดกเสียชีวิตแล้ว

คู่สมรสยังมีชีวิต

ในกรณีที่เจ้ามรดกมีคู่สมรสและบุตร คู่สมรสจะได้รับ

1.ทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้ามรดก(personal chattels) 


2.หากทรัพย์มรดกมี
มูลค่าเกินจำนวน ๑๒๕,๐๐๐ ปอนด์ ให้แบ่งทรัพย์มรดกส่วนที่เกินเป็น ๒ ส่วนเท่ากัน โดย
คู่สมรสจะได้รับเฉพาะดอกผลที่เกิดจากทรัพย์มรดกในส่วนแรกเท่านั้น ส่วนทรัพย์มรดก
ส่วนหลัง ให้แบ่งปันกันในระหว่างบุตรทุกคน คนละเท่ากัน แต่เมื่อคู่สมรสถึงแก่ความ
ตาย ให้นำทรัพย์มรดกส่วนแรกนี้มาแบ่งปันให้แก่บุตรทุกคน คนละเท่ากัน

ในกรณีที่เจ้ามรดกมีคู่สมรส แต่ไม่มีบุตรและหลาน คู่สมรสจะได้รับ

1.ทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้ามรดก (personal chattels)

2.หากมีทรัพย์มรดกมีมูลค่าเกินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ให้แบ่งทรัพย์มรดกส่วนที่เกินเป็น
2 ส่วนเท่ากัน คู่สมรสจะได้รับทรัพย์มรดกส่วนแรก ส่วนทรัพย์มรดกที่เหลือให้นำมาแบ่งปัน
แก่ญาติของเจ้ามรดก ดังนี้

1. บิดามารดาของเจ้ามรดกคนละเท่ากัน
2. หากไม่มีบิดามารดา ทรัพย์มรดกจะตกแก่พี่น้องร่วมบิดามารดา (full brothers or
sisters) ของเจ้ามรดกคนละเท่ากัน
3. หากไม่มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ทรัพย์มรดกจะตกแก่พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา (half
brothers or sisters) ของเจ้ามรดกคนละเท่ากัน
4. หากไม่มีพี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา ทรัพย์มรดกจะตกแก่ปู่ ย่า ตา ยาย ของเจ้า
มรดกคนละเท่ากัน
5. หากไม่มีปู่ ย่า ตา ยาย ทรัพย์มรดกจะตกแก่ลุง ป้า น้า อา (full aunts and uncles)
ของเจ้ามรดกคนละเท่ากัน
6. หากไม่มีลุง ป้า น้า อา ทรัพย์มรดกจะตกแก่ลุง ป้า น้า อาที่สืบสายโลหิตจากปู่ หรือย่า
หรือตา หรือยาย แต่ฝ่ายเดียว (half aunts and uncles)

 ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มีคู่สมรส แต่ไม่มีบุตร หลาน และญาติอื่น คู่สมรสจะ
ได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมดของเจ้ามรดก

คู่สมรสถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก

1. ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หากคู่สมรสของเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก
บุตรทุกคนของเจ้ามรดกจะได้รับทรัพย์มรดกคนละส่วนเท่ากัน
2. หากคู่สมรสและบุตรของเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก บิดามารดาของเจ้ามรดก
จะได้รับทรัพย์มรดกคนละเท่ากัน
3. หากคู่สมรส บุตร และบิดามารดาของเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก พี่น้องร่วม
บิดามารดา (full brothers or sisters) ของเจ้ามรดกจะได้รับทรัพย์มรดกคนละเท่ากัน
4. หากคู่สมรส บุตร บิดามารดา และพี่น้องร่วมบิดามารดาของเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อน
เจ้ามรดก พี่น้องร่วมแต่บิดามารดา (half brothers or sisters) ของเจ้ามรดกจะได้รับทรัพย์
มรดกคนละเท่ากัน
5. หากคู่สมรส บุตร บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา และพี่น้องร่วมแต่บิดามารดาของเจ้า
มรดกถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ปู่ ย่า ตา ยาย ของเจ้ามรดกจะได้รับทรัพย์มรดกคน
ละเท่ากัน
6. หากคู่สมรส บุตร บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมแต่บิดามารดา และปู่ ย่า ตา
ยายของเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ลุง ป้า น้า อา (full aunts and uncles) ของ
เจ้ามรดกจะได้รับทรัพย์มรดกคนละเท่ากัน
7. หากคู่สมรส บุตร บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมแต่บิดามารดา ปู่ ย่า ตา
ยาย และลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ลุง ป้า น้า อา ที่สืบ
สายโลหิตของปู่ หรือย่า หรือตา หรือยาย แต่ฝ่ายเดียว (half aunts and uncles) จะได้รับ
ทรัพย์มรดกคนละเท่ากัน
8. หากไม่มีบุคคลดังกล่าว ทรัพย์จะตกแก่แผ่นดิน

.....................................................................................................................................................

คุณสามารถอ่านข้อมูลความรู้เพิ่มเติม สำหรับคู่มืออยู่อย่างไรในอังกฤษได้ตามลิ้งก์ด้านล่าง

คลิ๊ก

No comments:

Post a Comment